วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การทำงานของไต

ไต เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด ซึ่งมีสารต่างๆ ที่ร่างกายต้องการกำจัดออกอยู่ คล้ายๆ กับการที่คุณมีห้องรกๆ (ในที่นี้ก็คือ เลือดที่มีสารหลายๆ อย่างทั้งที่ต้องการ และไม่ต้องการ) แล้วค่อยๆ เอาของที่ไม่ได้ใช้ออกทิ้งหน่ะครับ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ระบบย่อยๆ ก็คือ

1) การกรอง (filtration) จะเป็นการเอาสารโมเลกุลใหญ่ๆ เช่นพวก โปรตีน ไม่ให้ออกจากเลือดไปสู่กระบวนการขั้นต่อไป ดังนั้น คนที่มีไตปกติ ก็จะไม่สูญเสียโปรตีน หรือเม็ดเลือด จากตรงนี้ครับ ในทางกลับกัน คนที่ไตวาย หรือมีภาวะการทำงานของไตผิดปกติ ก็จะพบโปรตีนในปัสสาวะ หรือพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะได้ครับ ซึ่งก็เหมือนกับการที่เวลาเราจัดห้อง คุณยังคงเอาตู้ เตียง โต๊ะ ค้างไว้อยู่ในห้อง ไม่เอามารวมในการเลือกของทิ้งไงครับ

2) การดูดกลับ (reabsorption) เป็นการเอาสารโมเลกุลเล็กที่ร่างกายเห็นว่ามีประโยชน์ เก็บกลับมาเข้าสู่เลือดตามเดิม ในที่นี้ก็ได้แค่พวก ไอออนของโซเดียม (Na+) โพแทสเซียม คลอไรด์ และน้ำตาล คนที่เป็นเบาหวาน เกิดเนื่องจากน้ำตาลในเลือดมีปริมาณสูงกว่าปกติ ก็เลยไม่สามารถดูดกลับเอาน้ำตาลเข้าเลือดได้ทัน ก็เลยมีน้ำตาลค้างอยู่ในปัสสาวะ (จึงเรียก เบาหวาน ไงครับ) ถ้าเปรียบกับการจัดห้อง อันนี้ก็คือเอาของที่เราจะใช้ ไปเก็บไว้ในตู้ดังเดิมครับ

3) การหลั่ง (secretion) กระบวนการนี้ร่างกายจะทำการหลั่งสารที่เป็นสารที่ร่างกายมีมากเกินไป หรือเป็นสารแปลกปลอมเช่นยาบางชนิด ยูเรีย แคลเซียม ฟอสเฟต อันนี้ก็ คือเราเอาของในตู้ที่ไม่ได้ใช้แล้วจริงๆ ดึงมาทิ้งไว้กลางห้อง แล้วก็ทิ้งขยะออกไป เราก็จะได้ห้องที่เรียบร้อย (เหมือนกับเลือดที่สะอาด) ครับ

สำหรับการดูดกลับน้ำ และเกลือแร่ของไต คร่าวๆ มีดังนี้ครับ

1. น้ำ ส่วนมากจะถูกดูดกลับเนื่องจากความเข้มข้นของน้ำภายนอกของท่อหน่วยไต หรือบริเวณเนื้อไตนั้นมีน้อยกว่า ความเข้มข้นของน้ำที่มีอยู่ในท่อหน่วยไต ทำให้น้ำเกิดการแพร่ไปสู่เนื้อไตใหม่ (หรือก็คือกระบวนการ ออสโมซิส osmosis นั่นเอง) และจะมีเส้นเลือดนำน้ำนี้กลับสู่ระบบไหลเวียนโลหิตครับ

ยิ่ง ร่างกายต้องการสงวนน้ำไว้ให้มากเท่าไร ความเข้มข้นของน้ำภายนอกท่อหน่วยไต (เนื้อไต) ก็จะเข้มข้นมากขึ้น (เพื่อให้น้ำแพร่กลับมาที่เนื้อไตได้เยอะๆ) กระบวนการนี้ถูกควบคุมโดยฮอร์โมน AntiDiuretic Hormone หรือเรียกกันว่า ADH (หรืออีกชื่อคือ Vasopressin) แต่การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นนี้มีจำกัด ทำให้ยังไงๆ เราก็ต้องปัสสาวะออกมาเพื่อกำจัดของเสียอื่นๆ อยู่ดี

2. เกลือแร่ ส่วนมากร่างกายจะใช้กระบวนการ reabsorption ที่กล่าวมาแล้ว ในการนำเกลือแร่ส่วนใหญ่ที่ถูกกรองไปในตอนแรก กลับเข้าสู่ร่างกายครับ 

ภาพประกอบ
ไต แสดงส่วนต่างๆ ของไต ส่วน Cortex และ Medulla เป็นส่วนที่อยู่ของหน่วยไต (nephron) ซึ่งทำหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อส่งปัสสาวะไปยัง Renal pyramid, major/minor calyx แล้วส่งต่อไปยังท่อนำปัสสาวะ เพื่อไปยังกระเพาะปัสสาวะต่อไปครับ
จาก : Netter's Atlas of Human Physiology, 1st ed 





ที่มา : http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/X2396732/X2396732.html 
โดยคุณ วิน (7664)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น